วันอาทิตย์ที่ 21 สิงหาคม พ.ศ. 2554

วันสำคัญ

ถ้าเอ่ยชื่อ "สุนทรภู่" เชื่อว่าน้อยคนนักที่จะไม่รู้จักกวีชาวไทยที่มีชื่อเสียงก้องโลก โดยเฉพาะกลอนนิทานเรื่อง "พระอภัยมณี" จนได้รับยกย่องจากองค์การยูเนสโกให้เป็นบุคคลสำคัญของโลก ด้านงานวรรณกรรม  หรือ “มหากวีแห่งรัตนโกสินทร์" หรือ “เชกสเปียร์แห่งประเทศไทย" และคงเป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่า "วันที่ 26 มิถุนายน" ของทุกปีคือ "วันสุนทรภู่" ซึ่งมักจะมีการจัดนิทรรศการ ประกวดแต่งคำกลอน เพื่อแสดงถึงการรำลึกถึง เพราะฉะนั้น วันนี้กระปุกดอทคอมจึงไม่พลาด ขอพาไปเปิดประวัติ "วันสุนทรภู่" ให้มากขึ้นค่ะ...

ชีวประวัติ "สุนทรภู่"

          สุนทรภู่ กวีสำคัญสมัยต้นรัตนโกสินทร์ เกิดวันจันทร์ เดือน 8 ขึ้น 1 ค่ำ ปีมะเมีย จุลศักราช 1148 เวลา 2 โมงเช้า หรือตรงกับวันที่ 26 มิถุนายน พ.ศ. 2329 เวลา 8.00 น. นั่นเอง ซึ่งตรงกับสมัยรัชกาลที่ 1 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ณ บริเวณด้านเหนือของพระราชวังหลัง (บริเวณสถานีรถไฟบางกอกน้อยปัจจุบัน) บิดาของท่านเป็นชาวกร่ำ อำเภอแกลง จังหวัดระยอง ชื่อพ่อพลับ ส่วนมารดาเป็นชาวเมืองฉะเชิงเทรา ชื่อแม่ช้อย สันนิษฐานว่ามารดาเป็นข้าหลวงอยู่ในพระราชวังหลัง เชื่อว่าหลังจากสุนทรภู่เกิดได้ไม่นาน บิดามารดาก็หย่าร้างกัน บิดาออกไปบวชอยู่ที่วัดป่ากร่ำ ตำบลบ้านกร่ำ อำเภอแกลง อันเป็นภูมิลำเนาเดิม ส่วนมารดาได้เข้าไปอยู่ในพระราชวังหลัง ถวายตัวเป็นนางนมของพระองค์เจ้าหญิงจงกล พระธิดาในเจ้าฟ้ากรมหลวงอนุรักษ์เทเวศร์ ดังนั้น สุนทรภู่จึงได้อยู่ในพระราชวังหลังกับมารดา และได้ถวายตัวเป็นข้าในกรมพระราชวังหลัง ซึ่งสุนทรภู่ยังมีน้องสาวต่างบิดาอีกสองคน ชื่อฉิมและนิ่ม อีกด้วย

          "สุนทรภู่" ได้รับการศึกษาในพระราชวังหลังและที่วัดชีปะขาว (วัดศรีสุดาราม) ต่อมาได้เข้ารับราชการเป็นเสมียนนายระวางกรมพระคลังสวน ในกรมพระคลังสวน แต่ไม่ชอบทำงานอื่นนอกจากแต่งบทกลอน ซึ่งสามารถแต่งได้ดีตั้งแต่ยังรุ่นหนุ่ม เพราะตั้งแต่เยาว์วัยสุนทรภู่มีนิสัยรักแต่งกลอนยิ่งกว่างานอื่น ครั้งรุ่นหนุ่มก็ไปเป็นครูสอนหนังสืออยู่ที่วัดศรีสุดารามในคลองบางกอกน้อย ได้แต่งกลอนสุภาษิตและกลอนนิทานขึ้นไว้ เมื่ออายุราว 20 ปี

          ต่อมาสุนทรภู่ลอบรักกับนางข้าหลวงในวังหลังคนหนึ่ง ชื่อแม่จัน ซึ่งเป็นบุตรหลานผู้มีตระกูล จึงถูกกรมพระราชวังหลังกริ้วจนถึงให้โบยและจำคุกคนทั้งสอง แต่เมื่อกรมพระราชวังหลังเสด็จทิวงคตในปี พ.ศ. 2349 จึงมีการอภัยโทษแก่ผู้ถูกลงโทษทั้งหมดถวายเป็นพระราชกุศล หลังจากสุนทรภู่ออกจากคุก เขากับแม่จันก็เดินทางไปหาบิดาที่ อำเภอแกลง จังหวัดระยอง และมีบุตรด้วยกัน 1 คน ชื่อ “พ่อพัด” ได้อยู่ในความอุปการะของเจ้าครอกทองอยู่ ส่วนสุนทรภู่กับแม่จันก็มีเรื่องระหองระแหงกันเสมอ จนภายหลังก็เลิกรากันไป

          หลังจากนั้น สุนทรภู่ ก็เดินทางเข้าพระราชวังหลัง และมีโอกาสได้ติดตามพระองค์เจ้าปฐมวงศ์ในฐานะมหาดเล็ก ตามเสด็จไปในงานพิธีมาฆบูชา ที่อำเภอพระพุทธบาท จังหวัดสระบุรี เมื่อปี พ.ศ. 2350 และเขาก็ได้แต่ง “นิราศพระบาท” พรรณนาเหตุการณ์ในการเดินทางคราวนี้ด้วย และหลังจาก “นิราศพระบาท” ก็ไม่ปรากฏผลงานใดๆ ของสุนทรภู่อีกเลย

          จนกระทั่งเข้ารับราชการในปี พ.ศ. 2359 ในรัชสมัยรัชกาลที่ 2 สุนทรภู่ได้เข้ารับราชการในกรมพระอาลักษณ์ และเป็นที่โปรดปรานของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย จนแต่งตั้งให้เป็นกวีที่ปรึกษาและคอยรับใช้ใกล้ชิด เนื่องจากเมื่อครั้งที่พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยทรงแต่งกลอนบทละครในเรื่อง "รามเกียรติ์" ติดขัดไม่มีผู้ใดต่อกลอนได้ต้องพระราชหฤทัย จึงโปรดให้สุนทรภู่ทดลองแต่ง ปรากฏว่าแต่งได้ดีเป็นที่พอพระทัย จึงทรงพระกรุณาฯ เลื่อนให้เป็น "ขุนสุนทรโวหาร"

          ต่อมาในราว พ.ศ. 2364 สุนทรภู่ต้องติดคุกเพราะเมาสุราอาละวาดและทำร้ายท่านผู้ใหญ่ แต่ติดอยู่ไมนานก็พ้นโทษ เนื่องจากพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยทรงติดขัดบทพระราชนิพนธ์เรื่อง "สังข์ทอง" ไม่มีใครแต่งได้ต้องพระทัย ทรงให้สุนทรภู่ทดลองแต่งก็เป็นที่พอพระราชหฤทัยภายหลังพ้นโทษ สุนทรภู่ได้เป็นพระอาจารย์ถวายอักษรสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าอาภรณ์ พระราชโอรสในรัชกาลที่ 2 และ เชื่อกันว่าสุนทรภู่แต่งเรื่อง "สวัสดิรักษา" ในระหว่างเวลานี้ ซึ่งในระหว่างรับราชการอยู่นี้ สุนทรภู่แต่งงานใหม่กับแม่นิ่ม มีบุตรด้วยกันหนึ่งคน ชื่อ "พ่อตาบ
          "สุนทรภู่" รับราชการอยู่เพียง 8 ปี เมื่อถึงปี พ.ศ. 2367 พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยเสด็จสวรรคต หลังจากนั้นสุนทรภู่ก็ออกบวชที่วัดราชบูรณะ (วัดเลียบ) อยู่เป็นเวลา 18 ปี ระหว่างนั้นได้ย้ายไปอยู่วัดต่างๆ หลายแห่ง ได้แก่ วัดเลียบ, วัดแจ้ง, วัดโพธิ์, วัดมหาธาตุ และวัดเทพธิดาราม ซึ่งผลจากการที่ภิกษุภู่เดินทางธุดงค์ไปที่ต่างๆ ทั่วประเทศ ปรากฏผลงานเป็นนิราศเรื่องต่างๆ มากมาย งานเขียนชิ้นสุดท้ายที่ภิกษุภู่แต่งไว้ก่อนลาสิกขาบท คือ รำพันพิลาป โดยแต่งขณะจำพรรษาอยู่ที่วัดเทพธิดาราม พ.ศ. 2385 ทั้งนี้ ระหว่างที่ออกเดินทางธุดงค์ ภิกษุภู่ได้รับการอุปการะจากพระองค์เจ้าลักขณานุคุณจนพระองค์ประชวรสิ้นพระชมน์ สุนทรภู่จึงลาสิกขาบท รวมอายุพรรษาที่บวชได้ประมาณ 10 พรรษา สุนทรภู่ออกมาตกระกำลำบากอยู่พักหนึ่งจึงกลับเข้าไปบวชอีกครั้งหนึ่ง แต่อยู่ได้เพียง 2 พรรษา ก็ลาสิกขาบท และถวายตัวอยู่กับเจ้าฟ้าน้อย หรือสมเด็จเจ้าฟ้าจุฑามณี กรมขุนอิศเรศรังสรรค์ พระราชวังเดิม รวมทั้งได้รับอุปการะจากกรมหมื่นอัปสรสุดาเทพอีกด้วย 
          ในสมัยรัชกาลที่ 4 เมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ครองราชย์ ทรงสถาปนาเจ้าฟ้า กรมขุนอิศเรศรังสรรค์ เป็นพระบาทสมเด็จพระปิ่นกล้าเจ้าอยู่หัว ประทับอยู่วังหน้า (พระบวรราชวัง) สุนทรภู่จึงได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น "พระสุนทรโวหาร" ตำแหน่งเจ้ากรมพระอาลักษณ์ฝ่ายบวรราชวังในปี พ.ศ. 2394 และรับราชการต่อมาได้ 4 ปี ก็ถึงแก่มรณกรรมใน พ.ศ. 2398 รวมอายุได้ 70 ปี ในเขตพระราชวังเดิม ใกล้หอนั่งของพระยามนเทียรบาล (บัว) ที่เรียกชื่อกันว่า "ห้องสุนทรภู่" 
          สำหรับทายาทของสุนทรภู่นั้น เชื่อกันว่าสุนทรภู่มีบุตรชาย 3 คน คือ"พ่อพัด" เกิดจากภรรยาคนแรกคือแม่จัน "พ่อตาบ" เกิดจากภรรยาคนที่สองคือแม่นิ่ม และ "พ่อนิล" เกิดจากภรรยาที่ชื่อแม่ม่วง นอกจากนี้ ปรากฏชื่อบุตรบุญธรรมอีกสองคน ชื่อ "พ่อกลั่น" และ "พ่อชุบ" อย่างไรก็ตาม ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 6) ทรงตราพระราชบัญญัตินามสกุลขึ้น และตระกูลของสุนทรภู่ได้ใช้นามสกุลต่อมาว่า "ภู่เรือหงส์"

ผลงานของสุนทรภู่
          หนังสือบทกลอนของสุนทรภู่มีอยู่มาก เท่าที่ปรากฏเรื่องที่ยังมีฉบับอยู่ในปัจจุบันนี้คือ…

ประเภทนิราศ 
          - นิราศเมืองแกลง (พ.ศ. 2349) - แต่งเมื่อหลังพ้นโทษจากคุก และเดินทางไปหาพ่อที่เมืองแกลง

          - นิราศพระบาท (พ.ศ. 2350) - แต่งหลังจากกลับจากเมืองแกลง และต้องตามเสด็จพระองค์เจ้าปฐมวงศ์ไปนมัสการรอยพระพุทธบาทที่จังหวัดสระบุรีในวันมาฆบูชา

          - นิราศภูเขาทอง (ประมาณ พ.ศ. 2371) - แต่งโดยสมมุติว่า เณรหนูพัด เป็นผู้แต่งไปนมัสการพระเจดีย์ภูเขาทองที่จังหวัดอยุธยา

          - นิราศสุพรรณ (ประมาณ พ.ศ. 2374) - แต่งเมื่อครั้งยังบวชอยู่ และไปค้นหายาอายุวัฒนะที่จังหวัดสุพรรณบุรี เป็นผลงานเรื่องเดียวของสุนทรภู่ที่แต่งเป็นโคลง

          - นิราศวัดเจ้าฟ้า (ประมาณ พ.ศ. 2375) - แต่งเมื่อครั้งยังบวชอยู่ และไปค้นหายาอายุวัฒนะตามลายแทงที่วัดเจ้าฟ้าอากาศ (ไม่ปรากฏว่าที่จริงคือวัดใด) ที่จังหวัดอยุธยา

          - นิราศอิเหนา (ไม่ปรากฏ, คาดว่าเป็นสมัยรัชกาลที่ 3) แต่งเป็นเนื้อเรื่องอิเหนารำพันถึงนางบุษบา

          - รำพันพิลาป (พ.ศ. 2385) - แต่งเมื่อครั้งจำพรรษาอยู่ที่วัดเทพธิดาราม แล้วเกิดฝันร้ายว่าชะตาขาด จึงบันทึกความฝันพร้อมรำพันความอาภัพของตัวไว้เป็น "รำพันพิลาป" จากนั้นจึงลาสิกขาบท

          - นิราศพระประธม (พ.ศ. 2385) –เชื่อว่าแต่งเมื่อหลังจากลาสิกขาบทและเข้ารับราชการในพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ไปนมัสการพระประธมเจดีย์ (หรือพระปฐมเจดีย์) ที่เมืองนครชัยศรี

          - นิราศเมืองเพชร (พ.ศ. 2388) - แต่งเมื่อเข้ารับราชการในพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว เชื่อว่าไปธุระราชการอย่างใดอย่างหนึ่ง นิราศเรื่องนี้มีฉบับค้นพบเนื้อหาเพิ่มเติมซึ่ง อ.ล้อม เพ็งแก้ว เชื่อว่า บรรพบุรุษฝ่ายมารดาของสุนทรภู่เป็นชาวเมืองเพชร

ประเภทนิทาน
          เรื่องโคบุตร, เรื่องพระอภัยมณี, เรื่องพระไชยสุริยา, เรื่องลักษณวงศ์, เรื่องสิงหไกรภพ




พระอภัยมณี


สุดสาคร

ประเภทสุภาษิต          - สวัสดิรักษา- คาดว่าประพันธ์ในสมัยรัชกาลที่ 2 ขณะเป็นพระอาจารย์ถวายอักษรแด่เจ้าฟ้าอาภรณ์

          - สุภาษิตสอนหญิง - เป็นหนึ่งในผลงานซึ่งยังเป็นที่เคลือบแคลงว่า สุนทรภู่เป็นผู้ประพันธ์จริงหรือไม่

          - เพลงยาวถวายโอวาท - คาดว่าประพันธ์ในสมัยรัชกาลที่ 3 ขณะเป็นพระอาจารย์ถวายอักษรแด่เจ้าฟ้ากลางและเจ้าฟ้าปิ๋ว

ประเภทบทละคร          - เรื่องอภัยณุรา ซึ่งเขียนขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 4 เพื่อถวายพระองค์เจ้าดวงประภา พระธิดาในพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว

ประเภทบทเสภา
          - เรื่องขุนช้างขุนแผน (ตอนกำเนิดพลายงาม)

          - เรื่องพระราชพงศาวดาร

ประเภทบทเห่กล่อม
          แต่งขึ้นสำหรับใช้ขับกล่อมหม่อมเจ้าในพระองค์เจ้าลักขณานุคุณ กับพระเจ้าลูกยาเธอในพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว เท่าที่พบมี 4 เรื่องคือ เห่จับระบำ, เห่เรื่องพระอภัยมณี, เห่เรื่องโคบุตร เห่เรื่องพระอภัยมณี, เห่เรื่องกากี


ตัวอย่างวรรคทองที่มีชื่อเสียงของสุนทรภู่

          ด้วยความที่สุนทรภู่เป็นศิลปินเอกที่มีผลงานทางวรรณกรรม วรรณคดีมากมาย ทำให้ผลงานหลาย ๆ เรื่องของ สุนทรภู่ ถูกนำไปเป็นบทเรียนให้เด็กไทยได้ศึกษา จึงทำให้มีหลาย ๆ บทประพันธ์ที่คุ้นหู หรือ "วรรคทอง" ยกตัวอย่างเช่น

บางตอนจาก นิราศภูเขาทอง

ถึงโรงเหล้าเตากลั่นควันโขมง
มีคันโพงผูกสายไว้ปลายเสา
โอ้บาปกรรมน้ำนรกเจียวอกเรา
ให้มัวเมาเหมือนหนึ่งบ้าเป็นน่าอาย

ทำบุญบวชกรวดน้ำขอสำเร็จ
สรรเพชญโพธิญาณประมาณหมาย
ถึงสุราพารอดไม่วอดวาย
ไม่ใกล้กรายแกล้งเมินก็เกินไป

ไม่เมาเหล้าแล้วแต่เรายังเมารัก
สุดจะหักห้ามจิตคิดไฉน
ถึงเมาเหล้าเช้าสายก็หายไป
แต่เมาใจนี้ประจำทุกค่ำคืนฯ



ถึงบางพูดพูดดีเป็นศรีศักดิ์
มีคนรักรสถ้อยอร่อยจิต
แม้นพูดชั่วตัวตายทำลายมิตร
จะชอบผิดในมนุษย์เพราะพูดจา


บางตอนจาก นิราศอิเหนา

จะหักอื่นขืนหักก็จักได้
หักอาลัยนี้ไม่หลุดสุดจะหัก
สารพัดตัดขาดประหลาดนัก
แต่ตัดรักนี้ไม่ขาดประหลาดใจ

บางตอนจาก พระอภัยมณี

บัดเดี๋ยวดังหงั่งเหง่งวังเวงแว่ว
สะดุ้งแล้วเหลียวแลชะแง้หา
เห็นโยคีขี่รุ้งพุ่งออกมา
ประคองพาขึ้นไปจนบนบรรพต

แล้วสอนว่าอย่าไว้ใจมนุษย์
มันแสนสุดลึกล้ำเหลือกำหนด
ถึงเถาวัลย์พันเกี่ยวที่เลี้ยวลด
ก็ไม่คดเหมือนหนึ่งในน้ำใจคน

(พระฤาษีสอนสุดสาคร)




แม้นใครรักรักมั่งชังชังตอบ
ให้รอบคอบคิดอ่านนะหลานหนา
รู้สิ่งไรไม่สู้รู้วิชา
รู้รักษาตัวรอดเป็นยอดดี

(พระฤาษีสอนสุดสาคร)



อันนินทากาเลเหมือนเทน้ำ
ไม่ชอกช้ำเหมือนเอามีดมากรีดหิน
แค่องค์พระปฎิมายังราคิน
คนเดินดินหรือจะสิ้นคนนินทา



เขาย่อมเปรียบเทียบความว่ายามรัก    
แต่น้ำผักต้มขมชมว่าหวาน
ครั้นรักจางห่างเหินไปเนิ่นนาน
แต่น้ำตาลว่าเปรี้ยวไม่เหลียวแล



ถึงม้วยดินสิ้นฟ้ามหาสมุทร
ไม่สิ้นสุดความรักสมัครสมาน
แม้เกิดในใต้ฟ้าสุธาธาร
ขอพบพานพิศวาสไม่คลาดคลา

แม้เนื้อเย็นเป็นห้วงมหรรณพ
พี่ขอพบศรีสวัสดิ์เป็นมัจฉา
แม้เป็นบัวตัวพี่เป็นภุมรา
เชยผกาโกสุมประทุมทอง

แม้เป็นถ้ำอำไพใคร่เป็นหงส์
จะร่อนลงสิงสู่เป็นคู่สอง
ขอติดตามทรามสงวนนวลละออง
เป็นคู่ครองพิศวาสทุกชาติไป

(ตอน พระอภัยมณีเกี้ยวนางละเวง ได้ถูกนำไปดัดแปลงเล็กน้อยกลายเป็นเพลง "คำมั่นสัญญา")

บางตอนจาก เพลงยาวถวายโอวาท

อันความคิดวิทยาเหมือนอาวุธ
ประเสริฐสุดซ่อนใส่เสียในฝัก
สงวนคมสมนึกใครฮึกฮัก
จึงค่อยชักเชือดฟันให้บรรลัย



อันอ้อยตาลหวานลิ้นแล้วสิ้นซาก
แต่ลมปากหวานหูไม่รู้หาย
แม้นเจ็บอื่นหมื่นแสนจะแคลนคลาย
เจ็บจนตายเพราะเหน็บให้เจ็บใจ

บางตอนจาก สุภาษิตสอนหญิง

มีสลึงพึงบรรจบให้ครบบาท
อย่าให้ขาดสิ่งของต้องประสงค์
จงมักน้อยกินน้อยค่อยบรรจง
อย่าจ่ายลงให้มากจะยากนาน



จะพูดจาปราศรัยกับใครนั้น
อย่าตะคั้นตะคอกให้เคืองหู
ไม่ควรพูดอื้ออึ้งขึ้นมึงกู
คนจะหลู่ล่วงลามไม่ขามใจ



เป็นมนุษย์สุดนิยมเพียงลมปาก
จะได้ยากโหยหิวเพราะชิวหา
แม้นพูดดีมีคนเขาเมตตา
จะพูดจาพิเคราะห์ให้เหมาะความ



รู้วิชาก็ให้รู้เป็นครูเขา
จึงจะเบาแรงตนช่วยขนขวาย
มีข้าไทใช้สอย ค่อยสบาย
ตัวเป็นนายโง่เง่าบ่าวไม่เกรง


บางตอนจาก ขุนช้างขุนแผน ตอนกำเนิดพลายงาม

แม่รักลูก ลูกก็รู้ อยู่ว่ารัก
ใครอื่นสัก หมื่นแสน ไม่แม้นเหมือน
จะกินนอนวอนว่า เมตตาเตือน
จะจากเรือน ร้างแม่ ก็แต่กาย



ลูกผู้ชายลายมือนั้นคือยศ
เจ้าจงอตส่าห์ทำสม่ำเสมียน

(ขุนแผนสอนพลายงาม)

บางตอนจาก นิราศภูเขาทอง

ถึงบางพูดพูดดีเป็นศรีศักดิ์
มีคนรักรสถ้อยอร่อยจิต
แม้พูดชั่วตัวตายทำลายมิตร
จะชอบผิดในมนุษย์เพราะพูดจาฯ

บางตอนจาก นิราศพระบาท

เจ้าของตาลรักหวานขึ้นปีนต้น
เพราะดั้นด้นอยากลิ้มชิมรสหวาน
ครั้นได้รสสดสาวจากจาวตาล
ย่อมซาบซ่านหวานซึ้งตรึงถึงทรวง

ไหนจะยอมให้เจ้าหล่นลงเจ็บอก
เพราะอยากวกขึ้นลิ้นชิมของหวง
อันรสตาลหวานละม้ายคล้ายพุ่มพวง
พี่เจ็บทรวงช้ำอกเหมือนตกตาล...


ที่มาของวันสุนทรภู่          องค์การศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ(UNESCO) ซึ่งเป็นผู้ที่มีหน้าที่ส่งเสริมและเผยแพร่ผลงาน ด้านวัฒนธรรมของประเทศสมาชิกต่างๆ ทั่วโลก ด้วยการประกาศยกย่องเชิดชูเกียรติบุคคลผู้มีผลงานดีเด่นทางวัฒนธรรมระดับโลก ในวาระครบรอบ 100 ปีขึ้นไป ประจำทุกปี โดยมีวัตถุประสงค์คือ เพื่อเผยแพร่เกียรติคุณและผลงานของผู้มีผลงานดีเด่นทางด้านวัฒนธรรมระดับโลกให้ปรากฎแก่มวลสมาชิกทั่วโลก และเพื่อเชิญชวนให้ประเทศสมาชิกมีส่วนร่วมในการจัดกิจกรรมเฉลิมฉลองร่วมกับประเทศที่มีผู้ได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติ

          ในการนี้ รัฐบาลไทยโดยคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยการศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ กระทรวงศึกษาธิการ จะเป็นผู้สืบค้นบรรพบุรุษไทยผู้มีผลงานดีเด่นทางวัฒนธรรม เพื่อให้ยูเนสโกประกาศยกย่องเชิดชูเกียรติและได้ประกาศยกย่อง "สุนทรภู่" ให้เป็นบุคคลผู้มีผลงานดีเด่นทางวัฒนธรรมระดับโลก โดยในวาระครบรอบ 200 ปีเกิด เมื่อวันที่ 26 มิถุนายน พ.ศ. 2529 ต่อมาในปี พ.ศ. 2530 นายเสวตร เปี่ยมพงศ์สานต์ อดีตรองนายกรัฐมนตรี ได้ดำเนินการจัดตั้งสถาบันสุนทรภู่ขึ้น เพื่อสนับสนุนการจัดกิจกรรมเกี่ยวกับชีวิตและงานของสุนทรภู่ ให้แพร่หลายในหมู่เยาวชนและประชาชนชาวไทยมากยิ่งขึ้น ดังนั้น ทางรัฐบาลจึงได้กำหนดให้ วันที่ 26 มิถุนายน ของทุกปีเป็น "วันสุนทรภู่" ซึ่งนับแต่นั้น เมื่อถึงวันสุนทรภู่ จะมีการจัดงานรำลึกถึงสุนทรภู่ตามสถานที่ต่างๆ เช่น ที่พิพิธภัณฑ์สุนทรภู่ "วัดเทพธิดาราม" และ ที่จังหวัดระยอง และมีการจัดกิจกรรมเชิดชูเกียรติคุณและส่งเสริมศิลปะการประพันธ์บทกวีจากองค์กรต่างๆ โดยทั่วไป

          ทั้งนี้ ผลงานของสุนทรภู่ยังเป็นที่นิยมในสังคมไทยอย่างต่อเนื่องตลอดมาไม่ขาดสาย และมีการนำไปดัดแปลงเป็นสื่อต่างๆ เช่น หนังสือการ์ตูน ภาพยนตร์ เพลง รวมถึงละคร มีการก่อสร้างอนุสาวรีย์สุนทรภู่ ไว้ที่ ตำบลบ้านกร่ำ อำเภอแกลง จังหวัดระยอง ซึ่งเป็นบ้านเกิดของบิดาของสุนทรภู่ และเป็นกำเนิดผลงานนิราศเรื่องแรกของท่านคือ นิราศเมืองแกลง

กิจกรรมที่ควรปฏิบัติ ในวันสุนทรภู่
          1. มีการจัดนิทรรศการเกี่ยวกับประวัติชีวิตและผลงาน
          2. มีการแสดงผลงานประเภทนิทานฯ ของสุนทรภู่
          3. มีการประกวด แข่งขัน ประชันสักวา ตอบคำถามเกี่ยวกับประวัติชีวิต และผลงานของสุนทรภู่

วันสำคัญ

วันภาษาไทยแห่งชาติ 2554
   
 
ธงชาติไทย 
  
  
ธงชาติ และ ภาษา คือสิ่งที่บ่งบอกความเป็นไทย
 
 
               วันภาษาไทยแห่งชาติ คือ วันที่รำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ในด้านภาษาไทย และเพื่อกระตุ้น ให้ชาวไทยทั้งชาติได้ตระหนักถึงความสำคัญและคุณค่าของภาษาไทย และร่วมใจกันใช้ภาษาไทยให้ถูกต้องเพื่ออนุรักษ์ภาษาไทยให้เป็นเอกลักษณ์อยู่คู่ชาติไทยต่อไป
 
 
ความเป็นมาของวันภาษาไทยแห่งชาติ
 
 
               สืบเนื่องจากเมื่อ ๒๙ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๐๕ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเป็นประธานและทรงอภิปรายเรื่อง “ ปัญหาการใช้คำไทย ” ร่วมกับผู้ทรงคุณวุฒิในการประชุมทางวิชาการของชุมนุมภาษาไทย คณะพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชดำรัสตอนหนึ่งความว่าณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งทรงแสดงพระปรีชาสามารถและความสนพระราชหฤทัยห่วงใยในภาษาไทย จนเป็นที่ประทับใจผู้ร่วมประชุมครั้งนั้นเป็นอย่างยิ่ง   

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชดำรัสตอนหนึ่งความว่า...
 
 
ภาษาไทย 
 
วันภาษาไทยแห่งชาติ
 
“...เรามีโชคดีที่มีภาษาของตนเองแต่โบราณกาล จึงสมควรอย่างยิ่งที่จะรักษาไว้ ปัญหาเฉพาะในด้านรักษาภาษาก็มีหลายประการ อย่างหนึ่งต้องรักษาให้บริสุทธิ์ในทางออกเสียง คือให้ออกเสียงให้ถูกต้องชัดเจน อีกอย่างหนึ่งต้องรักษาให้บริสุทธิ์ในวิธีใช้ หมายความว่าวิธีใช้คำมาประกอบประโยค นับเป็นปัญหาที่สำคัญ ปัญหาที่สามคือความร่ำรวยในคำของภาษาไทย ซึ่งพวกเรานึกว่าไม่ร่ำรวยพอ จึงต้องมีการบัญญัติศัพท์ใหม่มาใช้ … สำหรับคำใหม่ที่ตั้งขึ้นมีความจำเป็นในทางวิชาการไม่น้อย แต่บางคำที่ง่ายๆ ก็ควรจะมี
ควรจะใช้คำเก่าๆ ที่เรามีอยู่แล้ว ไม่ควรจะมาตั้งศัพท์ใหม่ให้ยุ่งยาก…”
 
 
 
รัฐบาลจึงได้ประกาศให้วันดังกล่าวเป็นวันสำคัญ ตั้งแต่ ๑๓ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๔๒ เป็นต้นมา    

วัตถุประสงค์ของวันภาษาไทยแห่งชาติ มีดังนี้

๑. เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ผู้ทรงเป็นนักปราชญ์ และนักภาษาไทย รวมทั้งเพื่อน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ที่ได้ทรงแสดงความห่วงใย และพระราชทานแนวคิดต่างๆ เกี่ยวกับการใช้ภาษาไทย 

๒. เพื่อร่วมเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในมหามงคลสมัยเฉลิมพระชนมพรรษา ๖ รอบ ในวันที่ ๕ ธันวาคม ๒๕๔๒

๓. เพื่อกระตุ้นและปลุกจิตสำนึกของคนไทยทั้งชาติให้ตระหนักถึงความสำคัญและคุณค่าของภาษาไทย ตลอดจนร่วมมือร่วมใจกันทำนุบำรุงส่งเสริม และอนุรักษ์ภาษาไทย ซึ่งเป็นเอกลักษณ์และเป็นสมบัติวัฒนธรรมอันล้ำค่าของชาติให้คงอยู่คู่ชาติไทยตลอดไป

๔. เพื่อเพิ่มพูนประสิทธิภาพในการใช้ภาษาไทย ทั้งในวงวิชาการและวิชาชีพ รวมทั้งเพื่อยกมาตรฐานการเรียนการสอนภาษาไทยในสถานศึกษาทุกระดับให้สัมฤทธิผลยิ่งขึ้น

๕. เพื่อเปิดโอกาสให้หน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐบาลและเอกชนทั่วประเทศมีส่วนร่วมในการจัดกิจกรรมที่หลากหลาย เพื่อเผยแพร่ความรู้ภาษาไทยในรูปแบบต่างๆ ไปสู่สาธารณชนทั้งในฐานะที่เป็นภาษาประจำชาติ และในฐานะที่เป็นภาษาเพื่อการสื่อสารของทุกคนในชาติ
 
 
ซึ่งพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในครั้งนั้น มีใจความว่า
 
 
“...ในปัจจุบันนี้ปรากฏว่า ได้มีการใช้คำออกจะฟุ่มเฟือย และไม่ตรงกับความหมายอันแท้จริงอยู่เนืองๆ ทั้งออกเสียงก็ไม่ถูกต้องตามอักขรวิธี ถ้าปล่อยให้เป็นไปดังนี้ ภาษาของเราก็มีแต่จะทรุดโทรม ชาติไทยเรามีภาษาของเราใช้เองเป็นสิ่งอันประเสริฐอยู่แล้ว เป็นมรดกอันมีค่าตกทอดมาถึงเราทุกคนจึงมีหน้าที่จะต้องรักษาไว้
 
          
พระราชนิพนธ์  
พระราชนิพนธ์เรื่อง ติโต นายอินทร์ผู้ปิดทองหลังพระ และพระมหาชนก
 
     ฉะนั้นจึงขอให้บรรดานิสิตและบัณฑิต ตลอดจนครูบาอาจารย์ได้ช่วยกันรักษาและส่งเสริมภาษาไทย ซึ่งเป็นอุปกรณ์และหลักประกันเพื่อความเจริญวัฒนาของประเทศชาติ...” นอกจากนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ยังมีพระปรีชาญาณและพระอัจฉริยะภาพในการใช้ภาษาไทย ทรงรอบรู้ปราดเปรื่องถึงรากศัพท์ของคำไทย คือ ภาษาบาลีและสันสกฤต ทรงพระอุตสาหะวิริยะแปลและเรียบเรียงวรรณกรรมภาษาต่างประเทศเป็นภาษาไทยที่ สมบูรณ์ด้วยลักษณะวรรณศิลป์ มีเนื้อหาสาระที่มีคุณค่า เป็นคติในการเสียสละเพื่อส่วนรวม และเป็นแบบอย่างแก่ประชาชนในการใช้ภาษาไทย ดังจะเห็นได้จากพระราชนิพนธ์แปลเรื่องนายอินทร์ผู้ปิดทองหลังพระ ติโต พระราชนิพนธ์แปลบทความเรื่องสั้นๆ หลายบท และพระราชนิพนธ์เรื่อง พระมหาชนก เป็นต้น
 
ใช้ภาษาให้ถูกต้องกันนะครับ
 
"คนรุ่นใหม่ ใช้ภาษาไทยให้ถูกต้อง"

วันสำคัญ

วันสำคัญทางพระพุทธศาสนา
วันอาสาฬหบูชา Asarnha Puja Day
 
วันอาสาฬหบูชา ๒๕๕๔ ประวัติความเป็นมา ความสำคัญ และธรรมเนียมปฏิบัติ
 
วันอาสาฬหบูชาพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมเป็นครั้งแรก
วันอาสาฬหบูชา พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมเป็นครั้งแรก
 
    วันอาสาฬหบูชา เป็นวันสำคัญวันหนึ่งของพระพุทธศาสนา ตรงกับวันเพ็ญขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๘ ในสมัยพุทธกาลมีเหตุการณ์สำคัญเกิดขึ้น ๔ ประการ ดังต่อไปนี้
 
    ๑. เป็นวันที่พระบรมศาสดาทรงแสดงพระธรรมเทศนาเป็นครั้งแรก แก่ปัญจวัคคีย์ทั้ง ๕ รูป ที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน ใกล้เมืองพาราณสี
 
    ๒. เป็นวันที่พระบรมศาสดาทรงได้พระสาวกองค์แรก คือ ท่านโกญฑัญญะได้บรรลุธรรมเป็นพระโสดาบันองค์แรก
 
 วันอาสาฬหบูชาเป็นวันที่มีพระสงฆ์เกิดขึ้นรูปแรก
พระอัญญาโกญฑัญญะเป็นพระสงฆ์รูปแรกในพระพุทธศาสนา
 
    ๓. เป็นวันที่มีพระสงฆ์เกิดขึ้นเป็นรูปแรก คือ พระอัญญาโกญฑัญญะ ภายหลังจากที่ได้บรรลุธรรมเป็นพระโสดาบันแล้ว ก็ได้ทูลขออุปสมบท พระพุทธองค์ทรงประทานการอุปสมบท ยกขึ้นเป็นพระภิกษุรูปแรกในพระพุทธศาสนา
 
    ๔. เป็นวันเกิดขึ้นของพระรัตนตรัย คือ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ครบเป็นครั้งแรก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมีพระสงฆ์เกิดขึ้นเป็นพยานในการตรัสรู้ธรรม ความเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าของพระพุทธองค์ก็ครบถ้วนบริบูรณ์ คือ มิใช่เพียงแค่ตรัสรู้ธรรมเพียงพระองค์เดียวอย่างพระปัจเจกพุทธเจ้า
 
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงบรรลุธรรมใต้ต้นช้างน้าว
วันอาสาฬหบูชาเกิดขึ้นหลังพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงบรรลุธรรมได้ ๗ สัปดาห์
 
    ความเป็นมาของวันอาสาฬหบูชานั้น เริ่มต้นจากในครั้งพุทธกาล หลังจากพระศาสดาตรัสรู้ในวันเพ็ญเดือน ๖ แล้วทรงเสวยวิมุตติสุข คือ ความสุขจากการหลุดพ้นเป็นเวลา ๗ สัปดาห์ หลังจากนั้นทรงพระปริวิตกว่า ธรรมที่พระองค์ตรัสรู้นี้ลึกซึ้งมาก หมู่สัตว์ที่ยังมีกิเลสหนายากที่จะรู้เห็นตามได้ ท้าวสหัมบดีพรหมทรงทราบความปริวิตกของพระองค์ จึงมาทูลอาราธนาให้พระพุทธองค์ทรงแสดงธรรม เพราะสัตว์ที่มีธุลีในจักษุน้อยยังมีอยู่
 
 พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงรับอาราธนาจากท้าวสหัมบดีพรหม
ท้าวสหัมบดีพรหมมาทูลอาราธนาให้พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมโปรดหมู่สัตว์   
 
    เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงอาศัยพระมหากรุณาในหมู่สัตว์ผู้ยังเวียนตายเวียนเกิดอยู่ในภพสาม จึงทรงตรวจดูหมู่สัตว์ด้วยพุทธจักษุ ทรงเห็นหมู่สัตว์ที่มีกิเลสน้อยก็มี มีกิเลสมากก็มี มีอินทรีย์แก่กล้าก็มี มีอินทรีย์อ่อนก็มี ที่สอนง่ายก็มี สอนยากก็มี เหมือนดอกบัวที่เกิดและเจริญเติบโตในน้ำ บางพวกก็อยู่ในน้ำลึก บางพวกก็อยู่เสมอน้ำ บางพวกก็พ้นจากน้ำแล้ว คือ บางจำพวกยังไม่พร้อมที่จะบาน บางจำพวกก็พร้อมที่จะบาน เช่นเดียวกันกับหมู่สัตว์ที่พอสอนได้ก็มีอยู่ จึงทรงรับอาราธนาของท้าวสหัมบดีพรหม
 
    เมื่อท้าวสหัมบดีพรหมกลับไปสู่พรหมโลกแล้ว พระผู้มีพระภาคเจ้าก็ทรงดำริว่า “เราจะแสดงธรรมแก่ใครก่อน ใครจะพึงรู้ทั่วถึงธรรมนี้ได้เร็ว” ทรงดำริต่อว่า “อาฬารดาบสและอุทกดาบส เป็นผู้ฉลาดเฉียบแหลม มีกิเลสเบาบางมานาน หากได้ฟังธรรมก็จะพึงรู้ทั่วถึงธรรมได้เร็ว เราควรแสดงธรรมแก่ท่านทั้งสองก่อน”
 
ทรงตรวจดูบุคคลที่จะรองรับธรรมได้
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงพิจารณาบุคคลที่จะรองรับธรรม
คืออาฬารดาบสและอุทกดาบส แต่ดาบสทั้งสองได้สิ้นชีพเสียแล้ว
 
    เทวดาตนหนึ่งทราบพระดำริของพระผู้มีพระภาคเจ้า จึงอันตรธานจากวิมานมากราบทูลพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า ดาบสทั้งสองนั้นได้สิ้นชีวิตแล้ว พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงตรวจดูก็ทรงทราบว่า ดาบสทั้งสองนั้นสิ้นชีพแล้ว จึงทรงดำริว่า “พระดาบสทั้งสองเป็นผู้ประสบความเสื่อมอย่างใหญ่แล้ว เพราะถ้าเขาได้ฟังธรรมก็จะพึงรู้ได้ตลอดทั้งหมดโดยฉับพลัน” ครั้นแล้ว จึงทรงดำริถึงปัญจวัคคีย์ทั้ง ๕ ผู้มีอุปการะแก่พระองค์มาก ได้ตามมาอุปัฏฐากเมื่อครั้งยังเป็นพระโพธิสัตว์ก่อนตรัสรู้ จึงเสด็จไปโปรด ณ ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน
 
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงดำริถึงปัญจวัคคีย์ทั้ง 5
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงดำริถึงปัญจวัคคีย์ทั้ง ๕ ผู้มีอุปการะแก่พระองค์มาก
 
    ปัญจวัคคีย์ทั้ง ๕ ได้เห็นพระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จมาแต่ไกล จึงได้นัดหมายกันและกันว่า “ท่านทั้งหลาย พระสมณโคดมนี้เป็นผู้มักมาก คลายความเพียร เวียนมาเพื่อความเป็นคนมักมาก กำลังเสด็จมา พวกเราไม่พึงอภิวาท ไม่พึงลุกขึ้นต้อนรับพระองค์ ไม่พึงรับบาตร จีวร ของพระองค์ เพียงแต่วางอาสนะไว้ก็พอ ถ้าพระองค์ปรารถนาก็จะประทับนั่ง”
 
    ครั้นพระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จเข้าไปถึง ด้วยพุทธานุภาพจึงทำให้เหล่าปัญจวัคคีย์นั้นไม่ตั้งอยู่ในกติกาของตน ต่างลุกขึ้นต้อนรับพระผู้มีพระภาคเจ้า รูปหนึ่งรับบาตร จีวร ของพระผู้มีพระภาคเจ้า รูปหนึ่งปูอาสนะ รูปหนึ่งจัดหาน้ำล้างพระบาท รูปหนึ่งวางตั่งรองพระบาท รูปหนึ่งนำกระเบื้องเช็ดพระบาทเข้าไปถวาย พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับนั่งบนอาสนะที่ปัญจวัคคีย์จัดถวาย แล้วทรงล้างพระบาท หลังจากดูแลต้อนรับพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้ว พวกปัญจวัคคีย์ได้เรียกพระผู้มีพระภาคเจ้าโดยระบุพระนาม และใช้คำว่า “อาวุโส”
 
    เมื่อพวกปัญจวัคคีย์กล่าวอย่างนั้นแล้ว พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสห้ามเหล่าปัญจวัคคีย์ว่า “ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย พวกเธออย่าเรียกตถาคตโดยระบุชื่อ และอย่าใช้คำว่า อาวุโส ดูก่อนท่านทั้งหลาย ตถาคตเป็นอรหันต์ ตรัสรู้เองโดยชอบแล้ว พวกท่านจงเงี่ยโสตสดับ เราได้บรรลุอมตธรรมแล้ว เราจะสั่งสอน จะแสดงธรรม พวกท่านปฏิบัติตามที่เราสั่งสอนแล้ว ไม่ช้าก็จะทำให้แจ้งซึ่งคุณอันยอดเยี่ยม อันเป็นที่สุดแห่งพรหมจรรย์”
 
    เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสอย่างนี้แล้ว เหล่าปัญจวัคคีย์ได้ทูลค้านพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า “อาวุโสโคดม ที่ผ่านมานั้นท่านได้บำเพ็ญทุกรกิริยาอย่างยิ่งยวด แต่ก็ยังไม่อาจบรรลุธรรมอันประเสริฐ ก็บัดนี้ท่านเป็นผู้มักมาก คลายความเพียร เวียนมาเพื่อความเป็นคนมักมาก ไฉนจะบรรลุธรรมเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้เล่า”
 
    เมื่อพวกปัญจวัคคีย์กราบทูลอย่างนี้แล้ว พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า “ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ตถาคตไม่ใช่เป็นคนมักมาก ไม่ได้เป็นคนคลายความเพียร ไม่ได้เวียนมาเพื่อความเป็นคนมักมาก ดูก่อนท่านทั้งหลาย ตถาคตเป็นอรหันต์ ตรัสรู้เองโดยชอบ พวกท่านจงเงี่ยโสตสดับ เราได้บรรลุอมตธรรมแล้ว เราจะสั่งสอน จะแสดงธรรม พวกท่านปฏิบัติตามที่เราสั่งสอนแล้ว ไม่ช้าก็จะทำให้แจ้งซึ่งคุณอันยอดเยี่ยม อันเป็นที่สุดแห่งพรหมจรรย์” พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสเช่นนี้ถึง ๓ ครั้ง แล้วพระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสต่อไปอีกว่า “ดูก่อนท่านทั้งหลาย ถ้อยคำเช่นนี้เราไม่เคยพูดที่ไหนมาก่อน เราเพิ่งพูดในบัดนี้เท่านั้น”
 
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงธัมมจักรกัปวัตตนสูตร
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงธัมจักรกัปวัตตนสูตร แก่เหล่าปัญจวัคคีย์ทั้ง ๕
 
    พวกปัญจวัคคีย์ เมื่อได้ฟังถ้อยคำยืนยันอย่างหนักแน่น จึงยินยอมเชื่อฟังและตั้งใจฟังพระธรรมเทศนาที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดง พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงปฐมเทศนาแก่ปัญจวัคคีย์ ตรัสถึงข้อปฏิบัติ ๒ อย่างที่บรรพชิตไม่พึงปฏิบัติ ได้แก่
 
    ๑. การประกอบตนให้พัวพันด้วยกามสุขในกามทั้งหลาย เป็นธรรมอันเลว เป็นของชาวบ้าน เป็นของปุถุชน ไม่ใช่ของพระอริยะ ไม่ประกอบด้วยประโยชน์
 
 
    ๒. การทรมานตนเองให้ลำบาก สิ่งเหล่านี้ไม่ใช่ข้อปฏิบัติของพระอริยะ ไม่ประกอบด้วยประโยชน์
 
 วันอาสาฬหบูชาเป็นการเกิดขึ้นของพระสงฆ์รูปแรก
ท่านอัญญาโกณฑัญญะได้บรรลุโสดาปัตติผล
  
     และทรงยกย่องทางสายกลาง คือ ข้อปฏิบัติที่ตถาคตได้ตรัสรู้ด้วยปัญญาอันยิ่ง ได้แก่ อริยมรรคมีองค์ ๘ และ อริยสัจ ๔ จบพระธรรมเทศนา ท่านอัญญาโกณฑัญญะได้ดวงตาเห็นธรรม บรรลุโสดาปัตติผล เข้าถึงพระรัตนตรัยภายใน ด้วยเหตุนี้เอง พระรัตนตรัยจึงได้บังเกิดขึ้นครบถ้วนเป็นครั้งแรก
 
วันอาสาฬหบูชาเป็นวันที่พระรัตนตรัยครบทั้ง 3 ประการ
วันอาสาฬหบูชาเป็นวันเกิดขึ้นของพระรัตนตรัย คือ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์
 
    เมื่อพระพุทธองค์ทรงประกาศธรรมจักรให้เป็นไปแล้ว บรรดาเทวดาทั่วทุกชั้นฟ้าก็บันลือเสียง ตั้งแต่ภุมมเทวาไปจนถึงชั้นพรหมโลกต่างชื่นชมอนุโมทนา ทั่วทั้งหมื่นโลกธาตุได้ไหวสะเทือนสะท้าน ทั้งแสงสว่างอันยิ่งใหญ่หาประมาณมิได้ก็สว่างรุ่งเรืองไปทั่ว เพราะอานุภาพของเหล่าเทวดา
 
    เมื่อเราได้ทราบประวัติความเป็นมาของวันอาสาฬหบูชาแล้ว พวกเราชาวพุทธทุกคนจึงควรทำจิตให้เลื่อมใสในพระรัตนตรัย และตั้งใจประพฤติปฏิบัติธรรมให้เข้าถึงพระรัตนตรัยภายในโดยเร็ว ประเพณีนิยมในวันอาสาฬหบูชา
 
ธรรมเนียมปฏิบัติในวันอาสาฬหบูชา
 
     จากความสำคัญของวันอาสาฬหบูชาข้างต้นนี้ ทำให้ปู่ย่าตายายท่านจับหลักได้ว่า การเรียนสรรพวิชาใดๆ ก็ตาม ผู้ที่จะแตกฉานลึกซึ้งในความรู้นั้นได้ มีความจำเป็นต้องศึกษาแม่บทให้แตกฉานก่อน เช่น ถ้าเป็นวิชาคำนวณในทางโลกต้องใช้สูตรคูณเป็นแม่บท ในทางธรรมก็เช่นเดียวกัน การที่จะศึกษาธรรมะให้แตกฉาน ต้องศึกษาธัมมจักกัปปวัตตนสูตรเป็นแม่บททางธรรม
 
ธรรมเนียมปฏิบัติในวันอาสาฬหบูชา
กิจกรรมในวันอาสาฬหบูชา เข้าวัด ทำทาน รักษาศีล เจริญสมาธิ(Meditation)ภาวนา
 
     ปู่ย่าตายายท่านจับหลักตรงนี้ได้ เมื่อถึงวันอาสาฬหบูชา ท่านจึงขวนขวายไปวัดเพื่อฟังพระธรรมเทศนาเรื่องธัมมจักกัปปวัตตนสูตร เพื่อเป็นการทบทวนแม่บทธรรมะทั้งหมดใน พระพุทธศาสนาให้เข้าใจและซาบซึ้งยิ่งขึ้น
 
     ข้อคิดที่ได้จากตรงนี้คือ ไม่ว่าเราจะทำอะไรก็ตาม ทั้งที่เป็นประโยชน์ส่วนตัว และประโยชน์ของหมู่คณะ ทั้งหมู่คณะเล็ก เช่น ครอบครัว และหมู่คณะใหญ่ คือประเทศชาติ จะต้องมีหลักการที่ชัดเจน มีแม่บทที่ชัดเจน ที่ทุกคนต้องยึดถือปฏิบัติตาม และหลักการนั้นจะต้องสอดคล้องกับหลักธรรมในพระพุทธศาสนาด้วย อีกทั้งต้องถูกนำมาประพฤติปฏิบัติ จนกระทั่งหลักการที่ดีเหล่านั้นกลายเป็นนิสัยประจำตัว นิสัยประจำชาติ จึงจะส่งผลให้ตนเอง หมู่คณะ และประเทศชาติเจริญขึ้น และสงบสุขอย่างยั่งยืน
 
     ในวันอาสาฬหบูชานี้ ชาวพุทธควรถือเป็นหน้าที่อันสำคัญยิ่งที่จะพึงประกอบการบูชาทั้งส่วนอามิสบูชา และปฏิบัติบูชา โดยเฉพาะการปฏิบัติบูชานั้น ควรปฏิบัติตนตามหลักธรรมในธัมมจักกัปปวัตตนสูตร อันได้แก่ มัชฌิมาปฏิปทา ข้อปฏิบัติสายกลาง คือ อริยมรรค ๘ กล่าว โดยสรุปก็คือ ควรปฏิบัติตนให้มีศีล สมาธิ ปัญญา เมื่อปฏิบัติได้ดังนี้ ชื่อว่าได้บูชาพระพุทธองค์ ด้วยการบูชาอย่างยิ่ง
 
 
การตัดสินใจที่เด็ดเดี่ยวของลูกผู้ชายตัวจริงดีจริง
บวชเข้าพรรษา หน้าที่อันยิ่งใหญ่ของลูกผู้ชายหัวใจน่ากราบ